วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เตรียมตัวก่อนสอบ

การเตรียมตัวก่อนสอบ

การสอบ Entrance เป็นกิจกรรมที่น้อง ๆ ม.ปลาย ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
น้องที่กำลังศึกษาอยู่ ม. 6 ที่ต้องเก็บตัวเงียบเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมให้มากในการนำไปสอบแข่งขัน เพื่อให้มีโอกาสเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่อไป หากน้อง ๆ มีทักษะในการทำข้อสอบมากพอ ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจและประสบความสำเร็จได้ ในการที่จะทำข้อสอบให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนั้น ต้องมีการวางแผนการศึกษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ควรให้เวลากับการศึกษาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ซึ่งการสอบ Entrance ที่ผ่านมา น้อง ๆ แต่ละคนอาจจะมีเคล็ดลับการสอบที่แตกต่างกันแล้วแต่ว่าใครจะงัดอะไรออกมาสู้กัน (ด้วยความสุจริต) ซึ่งได้แก่ ทางไสยศาสตร์ การบนบานศาลกล่าว เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ หรือ การมีเคล็ดลับการเดาข้อสอบต่าง ๆ ซึ่งก็แล้วแต่ความสะดวกของน้องๆ แต่ละคน ซึ่งฉบับนี้ได้นำเคล็ดลับง่าย ๆ สำหรับการสอบ Entrance มาฝากน้อง ๆ เพื่อให้การสอบเป็นไปอย่างราบรื่น

1. การเตรียมความพร้อมก่อนวันสอบ น้อง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับตารางสอบให้มาก ๆ เพราะตารางสอบจะบ่งบอกถึง วัน เวลา วิชาที่สอบ และสถานที่สอบ ให้กับน้อง ๆ ตลอดจนการสำรวจสถานที่สอบก่อนไปสอบจริงด้วย เพราะหากน้อง ๆ ดูไม่ละเอียดถี่ถ้วนแล้ว นั่นหมายถึงว่าน้องได้ตัดโอกาสของตนเองด้วย ส่วนเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบ เช่น ดินสอ 2B หรือมากกว่านั้น เอกสารต่าง ๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันว่าน้องเป็นคนสมัครและเป็นคนมาสอบด้วยตนเองให้พร้อม (ไม่ควรมาหาเอาตอนจะไปสอบจะไม่ทันกาล)

2. ความพร้อมของน้อง ๆ เอง โดยก่อนออกจากบ้านไปยังสถานที่สอบ น้อง ๆ ให้ความสำคัญกับการแต่งกายหรือยัง การแต่งกายต้องสุภาพเรียบร้อย (ชุดนักเรียน) ถูกต้องตามระเบียบการแต่งกายของนักเรียนระดับ ม. ปลายหรือยัง ถ้ายังสำรวจตัวเองก่อนที่คณะกรรมการผู้คุมสอบจะไม่อนุญาตให้เข้าห้องสอบนะคะ แล้วอย่าลืมอุปกรณ์และเอกสารที่เตรียมไว้นะ จะได้ไม่เสียเวลาและไม่ทำให้น้องหงุดหงิดได้ค่ะ อย่าลืมว่าต้องไปทักทายเพื่อน ๆ ก่อนเข้าห้องสอบประมาณครึ่งชั่วโมงด้วยนะ เพื่อลดความวิตกกังวลและรู้สึกผ่อนคลาย จะได้รู้สึกดีและมั่นใจในการสอบ

3. เมื่อเข้าห้องสอบนั่งนิ่ง ๆ ทำใจให้สบาย ฟังคำชี้แจงจากคณะกรรมการคุมสอบให้ละเอียด ไม่เข้าใจให้สอบถามทันที เขียนชื่อ - สกุล รหัส ในกระดาษคำตอบให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะถ้าลืม ต่อให้เก่งสักเท่าไร บวก ไสยศาสตร์ก็ช่วยอะไรน้อง ๆ ไม่ได้นะคะ

4. รวบรวมสติให้มั่น อ่านคำชี้แจงให้ชัดเจน และให้เข้าใจ พร้อมทั้งสำรวจว่าข้อสอบที่ได้มีจำนวนข้อ และจำนวนหน้าตรงตามคำชี้แจงที่ข้อสอบได้ระบุไว้หรือไม่ ถ้ามีปัญหาอะไรให้รีบแจ้งคณะกรรมการคุมสอบโดยเร็ว

5. น้องต้องวางแผนการใช้เวลาในการสอบทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาในการทำข้อสอบข้อละกี่นาที จึงจะเสร็จ น้อง ๆ ควรควบคุมและใช้เวลาในการทำข้อสอบตามแผนที่วางไว้ เพราะเมื่อพบข้อที่ยาก อาจจะทำให้ทั้งเวลาและความรู้สึกของน้องเสียไปได้

6. ให้น้อง ๆ รีบจดสาระสำคัญ เช่น สูตร หรือข้อความที่ต้องใข้ในวิชานั้น ๆ ลงในกระดาษคำถามก่อนที่ความตื่นเต้นจะทำให้ลืมไปเสียก่อน (แล้วอย่าเผลอไปจดใส่กระดาษอื่น ๆ ล่ะ เดี๋ยวเจอข้อหาทุจริตได้ จะหาว่าไม่เตือน)

7. ให้น้อง ๆ เลือกทำข้อสอบในส่วนของข้อที่ง่ายก่อน แล้วค่อยทำข้อสอบในส่วนที่ยากต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ในสถานการณ์ที่พบข้อที่ยากให้ทำเครื่องหมายและข้ามไปทำข้อถัดไปก่อนแล้วจึงย้อนกลับมาทำใหม่ ให้น้อง ๆ ระวังข้อคำถามหรือต้องเลือกที่มีคำที่เป็นปฏิเสธ หรือปฏิเสธซ้อนปฏิเสธให้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาความหมายที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เสียคะแนนได้

8. น้องควรใช้ความรู้ในการทำข้อสอบและไม่ต้องสนใจกับรูปแบบของข้อที่ตอบให้มากนัก เช่น ตอบข้อ ก แล้ว ข้อถัดไปไม่ควรจะเป็นข้อ ก อีก เป็นต้น ให้น้องคำนึงถึงตัวเนื้อหาที่เป็นคำตอบที่ถูกต้องดีกว่า เพราะถ้าน้องยึดติดกับตัวรูปแบบของการตอบแล้ว อาจทำให้พลาดจากคะแนนที่ต้องการได้ค่ะ

9. การตอบปกติแล้วคำตอบที่คิดไว้เป็นครั้งแรกมักจะเป็นคำตอบที่ถูก แต่ถ้าหากจะเปลี่ยนคำตอบ ควรเปลี่ยนเมื่อแน่ใจจริง ๆ ว่าที่ตอบมาแล้วตอบผิด แต่หากไม่แน่ใจให้น้องคงคำตอบเดิมไว้นะคะ ความรู้ไม่เข้าใครออกใคร ความคิดของน้องครั้งแรกจะเป็นจะเป็นตัวช่วยเพิ่มคะแนนให้น้อง ๆ ได้คะ ถ้าเวลาในการทำข้อสอบเหลือพอที่จะทบทวนให้น้องย้อนกลับไปทบทวนเฉพาะข้อที่ยากและไม่เข้าใจ เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง และถ้าข้อสอบที่มีตัวเลือกเหลือให้ต้องเดาต้องเดาอย่างมีหลักการของความถูกต้องนะคะ เพราะไม่งั้นคะแนนอาจติดลบได้ค่ะ แต่บางคนมีเคล็ดลับการเดาที่ดี คือ การมีพื้นฐาน ความรู้และประสบการณ์ ก็อาจทำแต้มขึ้นมาได้ค่ะ

10. แนวโน้มเนื้อหาในการสอบ Entrance และคะแนนของข้อสอบแต่ละวิชา จะมีน้ำหนักที่ต่างกันออกไป ค่าของคะแนนจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาที่ออกเป็นส่วนใหญ่ ข้อสอบที่นิยมนำมาทดสอบน้อง ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ข้อสอบแบบ ปรนัย และ ข้อสอบแบบอัตนัย ซึ่งน้อง ๆ บางคนอาจจะสับสนกับ คำว่า "ปรนัย" และ "อัตนัย" อยู่บ้าง "ปรนัย" คือ ข้อสอบที่มีคำถาม พร้อมตัวเลือกให้เลือกตอบ จำนวน 4 ตัวเลือก (ระดับมัธยมศึกษา) และ "อัตนัย" คือ ข้อสอบที่มีคำถาม เพียงอย่างเดียว แล้วให้น้องหาคำตอบจากการแสดงวิธีทำ เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปเนื้อหาของข้อสอบที่ใช้ จะวัดพฤติกรรมการเรียนรู้ ของผู้เรียนมากกว่า โดยใช้หลักการของนักจิตวิทยาการศึกษา ชื่อว่า Benjamin S. Bloom (น้อง ๆ คงจะคุ้นเคยกับชื่อนี้มาบ้างแล้ว) ซึ่ง Bloom เองได้กำหนด พฤติกรรมการเรียนรู้ ไว้ดังนี้

10.1 ความรู้ ความจำ หมายถึง การวัดความสามารถในการระลึกได้ถึงประสบการณ์ที่เคยศึกษา
ความจำอาจเป็นการถามความเกี่ยวกับศัพท์ และนิยามกฎเกณฑ์ วิธีการ เป็นต้นโดยคำถามมักจะใช้
คำว่า อะไร ที่ไหน อย่างไร
10.2 ความเข้าใจ หมายถึง การวัดความสามารถในการแปลความ ตีความ และขยายความ
10.3 การนำไปใช้ หมายถึง การนำหลักวิชาไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่
10.4 การวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการแยกแยะส่วนต่าง ๆของเหตุการณ์หรือเรื่องราวว่า
เป็นอย่างไร การวิเคราะห์ถึงความสำคัญ ความสัมพันธ์หรือหลักการเป็นต้น
10.5 การสังเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการรวบรวมสิ่งที่ศึกษาเข้าด้วยกันเป็นสิ่งใหม่ หรือรูป
แบบใหม่ อาจเป็นการสังเคราะห์ข้อความ การวางแผนงานล่วงหน้าหรือความสัมพันธ์ เป็นต้น
10.6 การประเมินค่า หมายถึงความสามารถในการพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้ศึกษามาทั้ง
หมดว่าตัดสินได้ว่าอย่างไร โดยข้อสอบที่ นำมาทดสอบน้องในการสอบ Entrance แต่ละปีนั้น ก็มักจะ
นำพฤติกรรมการเรียนรู้ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมาเป็นตัวทดสอบความรู้ของน้อง ๆ เอง โดยที่น้องต้องรู้
ว่าพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ทางผู้ออกข้อสอบนำมาใช้นั้น เป็นแนวใด และมีลักษณะเช่นไรแล้ว จะทำให้
น้อง ๆ มีแนวทางใน การเตรียมตัวอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบ Entrance ต่อไป

11. น้องๆ อย่าลืมตรวจสอบกระดาษคำตอบว่าได้ตอบทุกข้อคำถามและเลือกตอบเพียง 1 ตัวเลือกเท่านั้นก่อนส่งให้กรรมการคุมสอบด้วยนะคะ

12. หลังสอบเสร็จแล้วให้น้อง ๆ กลับไปทบทวนในข้อที่ยากหรือข้อที่ไม่แน่ใจทันที เพื่อเป็นการเรียนรู้จากข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนอีกครั้ง สำหรับในการสอบครั้งต่อไป

วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วาเลนไทน์

ประวัติ
วันวาเลนไทน์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน ในกรุงโรมสมัยก่อนนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันเฉลิมฉลองของจูโน่ซึ่งเป็นราชินีแห่งเหล่าเทพและเทพธิดาของโรมัน ชาวโรมันรู้จักเธอในนามของเทพธิดาแห่ง อิสตรีและการแต่งงาน และในวันถัดมาคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ก็จะเป็นวันเริ่มต้นงานเลี้ยงของ Lupercalia การดำเนินชีวิตของเด็กหนุ่มและเด็กสาวในสมัยนั้นจะถูกแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเพณี อย่างนึง ซึ่งเด็กหนุ่มสาวยังสืบทอดต่อกันมา คือ คืนก่อนวันเฉลิมฉลอง Lupercalia นั้นชื่อของเด็กสาวทุกคนจะถูกเขียนลงในเศษกระดาษเล็ก ๆ และจะใส่เอาไว้ในเหยือก เด็กหนุ่มแต่ละคนจะดึงชื่อของเด็กสาวออกจากเหยือก แล้วหลังจากนั้นก็จะจับคู่กันในงานเฉลิมฉลอง บางครั้งการจับคู่นี้ ท้ายที่สุดก็จะจบลงด้วยการที่เด็กหนุ่มและเด็กสาวทั้งสองนั้นได้ตกหลุมรักกันและแต่งงานกันในที่สุด

ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง (Claudius II) นั้น กรุงโรมได้เกิดสงครามหลาย ครั้ง และคลอดิอุสเองก็ประสบกับปัญหาในการที่จะหาทหารจำนวนมากมายมหาศาลมาเข้าร่วมในศึกสงคราม และเขาเชื่อว่าเหตุผลสำคัญก็คือ ผู้ชายโรมันหลายคนไม่ต้องการจากครอบครัวและคนอันเป็นที่รักไป และด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้จักรพรรดิคลอดิอุสประกาศให้ยกเลิกงานแต่งงานและงานหมั้นทั้งหมดในกรุงโรม ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีนักบุญผู้ใจดีคนหนึ่งซึ่งชื่อว่า ท่านนักบุญวาเลนไทน์ ท่านเป็นพระที่กรุงโรมในสมัยของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ท่านนักบุญวาเลนไทน์และนักบุญมาริอุส ได้จัดตั้งกลุ่มองค์กรเล็ก ๆ เพื่อช่วยเหลือชาวคริสเตียนที่ ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ และได้จัดให้มีการแต่งงานของคู่รักอย่างลับ ๆ ด้วย

และจากการกระทำเหล่านี้เอง ทำให้นักบุญวาเลนไทน์ถูกจับและถูกตัดสินประหารโดยการตัดศีรษะ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ประมาณปีคริสต์ศักราชที่ 270 ซึ่งถือเป็นวันที่ท่านได้ทนทุกข์ทรมานและเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์


การส่งดอกไม้วันวาเลนไทน์
มนุษย์ได้ใช้ดอกไม้เป็นสื่อในการแสดงความรักต่อกันมานานแล้ว เราอาจจะคิดว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่สามารถใช้สื่อความหมายเฉพาะความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วดอกไม้แต่ละชนิดสามารถสื่อความรักได้หลายรูปแบบ ทั้งยังไม่จำกัดอายุและเพศอีกด้วย

กุหลาบแดง (Red Rose) : จะใช้ในความหมายแทน ประโยคที่ว่า "ฉันรักเธอ"
กุหลาบขาว (White Rose) : กุหลาบขาวแทนความหมายแห่งความรักอันบริสุทธิ์
กุหลาบชมพู (Pink Rose) : มักถูกใช้แทนความรักแบบโรแมนติก และความเสน่หาต่อกัน
กุหลาบเหลือง (Yellow Rose) : สีเหลืองเป็นสีแห่งความสดใส แทนความรักแบบเพื่อน

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา (บาลี: มาฆปูชา; อังกฤษ: Magha Puja) เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปุรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (มักอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนมีนาคม) ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)[2]

วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช อันเป็นปีแรกแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในวันนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูปนั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4[3]

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น[4] โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร

ปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์[5] พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์[6] กล่าวคือหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชา ให้เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยวัยรุ่นสาวมักจะเสียตัวในวันวาเลนไทน์หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก (อันบริสุทธิ์) แทน

สำหรับในปี พ.ศ. 2552 นี้ วันมาฆบูชาจะตรงกับ วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสุริยคติ