วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เตรียมตัวก่อนสอบ

การเตรียมตัวก่อนสอบ

การสอบ Entrance เป็นกิจกรรมที่น้อง ๆ ม.ปลาย ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
น้องที่กำลังศึกษาอยู่ ม. 6 ที่ต้องเก็บตัวเงียบเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมให้มากในการนำไปสอบแข่งขัน เพื่อให้มีโอกาสเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่อไป หากน้อง ๆ มีทักษะในการทำข้อสอบมากพอ ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจและประสบความสำเร็จได้ ในการที่จะทำข้อสอบให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนั้น ต้องมีการวางแผนการศึกษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ควรให้เวลากับการศึกษาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ซึ่งการสอบ Entrance ที่ผ่านมา น้อง ๆ แต่ละคนอาจจะมีเคล็ดลับการสอบที่แตกต่างกันแล้วแต่ว่าใครจะงัดอะไรออกมาสู้กัน (ด้วยความสุจริต) ซึ่งได้แก่ ทางไสยศาสตร์ การบนบานศาลกล่าว เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ หรือ การมีเคล็ดลับการเดาข้อสอบต่าง ๆ ซึ่งก็แล้วแต่ความสะดวกของน้องๆ แต่ละคน ซึ่งฉบับนี้ได้นำเคล็ดลับง่าย ๆ สำหรับการสอบ Entrance มาฝากน้อง ๆ เพื่อให้การสอบเป็นไปอย่างราบรื่น

1. การเตรียมความพร้อมก่อนวันสอบ น้อง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับตารางสอบให้มาก ๆ เพราะตารางสอบจะบ่งบอกถึง วัน เวลา วิชาที่สอบ และสถานที่สอบ ให้กับน้อง ๆ ตลอดจนการสำรวจสถานที่สอบก่อนไปสอบจริงด้วย เพราะหากน้อง ๆ ดูไม่ละเอียดถี่ถ้วนแล้ว นั่นหมายถึงว่าน้องได้ตัดโอกาสของตนเองด้วย ส่วนเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบ เช่น ดินสอ 2B หรือมากกว่านั้น เอกสารต่าง ๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันว่าน้องเป็นคนสมัครและเป็นคนมาสอบด้วยตนเองให้พร้อม (ไม่ควรมาหาเอาตอนจะไปสอบจะไม่ทันกาล)

2. ความพร้อมของน้อง ๆ เอง โดยก่อนออกจากบ้านไปยังสถานที่สอบ น้อง ๆ ให้ความสำคัญกับการแต่งกายหรือยัง การแต่งกายต้องสุภาพเรียบร้อย (ชุดนักเรียน) ถูกต้องตามระเบียบการแต่งกายของนักเรียนระดับ ม. ปลายหรือยัง ถ้ายังสำรวจตัวเองก่อนที่คณะกรรมการผู้คุมสอบจะไม่อนุญาตให้เข้าห้องสอบนะคะ แล้วอย่าลืมอุปกรณ์และเอกสารที่เตรียมไว้นะ จะได้ไม่เสียเวลาและไม่ทำให้น้องหงุดหงิดได้ค่ะ อย่าลืมว่าต้องไปทักทายเพื่อน ๆ ก่อนเข้าห้องสอบประมาณครึ่งชั่วโมงด้วยนะ เพื่อลดความวิตกกังวลและรู้สึกผ่อนคลาย จะได้รู้สึกดีและมั่นใจในการสอบ

3. เมื่อเข้าห้องสอบนั่งนิ่ง ๆ ทำใจให้สบาย ฟังคำชี้แจงจากคณะกรรมการคุมสอบให้ละเอียด ไม่เข้าใจให้สอบถามทันที เขียนชื่อ - สกุล รหัส ในกระดาษคำตอบให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะถ้าลืม ต่อให้เก่งสักเท่าไร บวก ไสยศาสตร์ก็ช่วยอะไรน้อง ๆ ไม่ได้นะคะ

4. รวบรวมสติให้มั่น อ่านคำชี้แจงให้ชัดเจน และให้เข้าใจ พร้อมทั้งสำรวจว่าข้อสอบที่ได้มีจำนวนข้อ และจำนวนหน้าตรงตามคำชี้แจงที่ข้อสอบได้ระบุไว้หรือไม่ ถ้ามีปัญหาอะไรให้รีบแจ้งคณะกรรมการคุมสอบโดยเร็ว

5. น้องต้องวางแผนการใช้เวลาในการสอบทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาในการทำข้อสอบข้อละกี่นาที จึงจะเสร็จ น้อง ๆ ควรควบคุมและใช้เวลาในการทำข้อสอบตามแผนที่วางไว้ เพราะเมื่อพบข้อที่ยาก อาจจะทำให้ทั้งเวลาและความรู้สึกของน้องเสียไปได้

6. ให้น้อง ๆ รีบจดสาระสำคัญ เช่น สูตร หรือข้อความที่ต้องใข้ในวิชานั้น ๆ ลงในกระดาษคำถามก่อนที่ความตื่นเต้นจะทำให้ลืมไปเสียก่อน (แล้วอย่าเผลอไปจดใส่กระดาษอื่น ๆ ล่ะ เดี๋ยวเจอข้อหาทุจริตได้ จะหาว่าไม่เตือน)

7. ให้น้อง ๆ เลือกทำข้อสอบในส่วนของข้อที่ง่ายก่อน แล้วค่อยทำข้อสอบในส่วนที่ยากต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ในสถานการณ์ที่พบข้อที่ยากให้ทำเครื่องหมายและข้ามไปทำข้อถัดไปก่อนแล้วจึงย้อนกลับมาทำใหม่ ให้น้อง ๆ ระวังข้อคำถามหรือต้องเลือกที่มีคำที่เป็นปฏิเสธ หรือปฏิเสธซ้อนปฏิเสธให้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาความหมายที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เสียคะแนนได้

8. น้องควรใช้ความรู้ในการทำข้อสอบและไม่ต้องสนใจกับรูปแบบของข้อที่ตอบให้มากนัก เช่น ตอบข้อ ก แล้ว ข้อถัดไปไม่ควรจะเป็นข้อ ก อีก เป็นต้น ให้น้องคำนึงถึงตัวเนื้อหาที่เป็นคำตอบที่ถูกต้องดีกว่า เพราะถ้าน้องยึดติดกับตัวรูปแบบของการตอบแล้ว อาจทำให้พลาดจากคะแนนที่ต้องการได้ค่ะ

9. การตอบปกติแล้วคำตอบที่คิดไว้เป็นครั้งแรกมักจะเป็นคำตอบที่ถูก แต่ถ้าหากจะเปลี่ยนคำตอบ ควรเปลี่ยนเมื่อแน่ใจจริง ๆ ว่าที่ตอบมาแล้วตอบผิด แต่หากไม่แน่ใจให้น้องคงคำตอบเดิมไว้นะคะ ความรู้ไม่เข้าใครออกใคร ความคิดของน้องครั้งแรกจะเป็นจะเป็นตัวช่วยเพิ่มคะแนนให้น้อง ๆ ได้คะ ถ้าเวลาในการทำข้อสอบเหลือพอที่จะทบทวนให้น้องย้อนกลับไปทบทวนเฉพาะข้อที่ยากและไม่เข้าใจ เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง และถ้าข้อสอบที่มีตัวเลือกเหลือให้ต้องเดาต้องเดาอย่างมีหลักการของความถูกต้องนะคะ เพราะไม่งั้นคะแนนอาจติดลบได้ค่ะ แต่บางคนมีเคล็ดลับการเดาที่ดี คือ การมีพื้นฐาน ความรู้และประสบการณ์ ก็อาจทำแต้มขึ้นมาได้ค่ะ

10. แนวโน้มเนื้อหาในการสอบ Entrance และคะแนนของข้อสอบแต่ละวิชา จะมีน้ำหนักที่ต่างกันออกไป ค่าของคะแนนจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาที่ออกเป็นส่วนใหญ่ ข้อสอบที่นิยมนำมาทดสอบน้อง ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ข้อสอบแบบ ปรนัย และ ข้อสอบแบบอัตนัย ซึ่งน้อง ๆ บางคนอาจจะสับสนกับ คำว่า "ปรนัย" และ "อัตนัย" อยู่บ้าง "ปรนัย" คือ ข้อสอบที่มีคำถาม พร้อมตัวเลือกให้เลือกตอบ จำนวน 4 ตัวเลือก (ระดับมัธยมศึกษา) และ "อัตนัย" คือ ข้อสอบที่มีคำถาม เพียงอย่างเดียว แล้วให้น้องหาคำตอบจากการแสดงวิธีทำ เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปเนื้อหาของข้อสอบที่ใช้ จะวัดพฤติกรรมการเรียนรู้ ของผู้เรียนมากกว่า โดยใช้หลักการของนักจิตวิทยาการศึกษา ชื่อว่า Benjamin S. Bloom (น้อง ๆ คงจะคุ้นเคยกับชื่อนี้มาบ้างแล้ว) ซึ่ง Bloom เองได้กำหนด พฤติกรรมการเรียนรู้ ไว้ดังนี้

10.1 ความรู้ ความจำ หมายถึง การวัดความสามารถในการระลึกได้ถึงประสบการณ์ที่เคยศึกษา
ความจำอาจเป็นการถามความเกี่ยวกับศัพท์ และนิยามกฎเกณฑ์ วิธีการ เป็นต้นโดยคำถามมักจะใช้
คำว่า อะไร ที่ไหน อย่างไร
10.2 ความเข้าใจ หมายถึง การวัดความสามารถในการแปลความ ตีความ และขยายความ
10.3 การนำไปใช้ หมายถึง การนำหลักวิชาไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่
10.4 การวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการแยกแยะส่วนต่าง ๆของเหตุการณ์หรือเรื่องราวว่า
เป็นอย่างไร การวิเคราะห์ถึงความสำคัญ ความสัมพันธ์หรือหลักการเป็นต้น
10.5 การสังเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการรวบรวมสิ่งที่ศึกษาเข้าด้วยกันเป็นสิ่งใหม่ หรือรูป
แบบใหม่ อาจเป็นการสังเคราะห์ข้อความ การวางแผนงานล่วงหน้าหรือความสัมพันธ์ เป็นต้น
10.6 การประเมินค่า หมายถึงความสามารถในการพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้ศึกษามาทั้ง
หมดว่าตัดสินได้ว่าอย่างไร โดยข้อสอบที่ นำมาทดสอบน้องในการสอบ Entrance แต่ละปีนั้น ก็มักจะ
นำพฤติกรรมการเรียนรู้ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมาเป็นตัวทดสอบความรู้ของน้อง ๆ เอง โดยที่น้องต้องรู้
ว่าพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ทางผู้ออกข้อสอบนำมาใช้นั้น เป็นแนวใด และมีลักษณะเช่นไรแล้ว จะทำให้
น้อง ๆ มีแนวทางใน การเตรียมตัวอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบ Entrance ต่อไป

11. น้องๆ อย่าลืมตรวจสอบกระดาษคำตอบว่าได้ตอบทุกข้อคำถามและเลือกตอบเพียง 1 ตัวเลือกเท่านั้นก่อนส่งให้กรรมการคุมสอบด้วยนะคะ

12. หลังสอบเสร็จแล้วให้น้อง ๆ กลับไปทบทวนในข้อที่ยากหรือข้อที่ไม่แน่ใจทันที เพื่อเป็นการเรียนรู้จากข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนอีกครั้ง สำหรับในการสอบครั้งต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: